วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย จริงหรือ???


ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย จริงหรือ???

หลายๆ ครั้งที่เราเคยสงสัยว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายจะมีอายุยืนยาวกว่ากัน และเพราะเหตุใดจึงทำให้ทั้งสองเพศมีอายุขัยที่แตกต่างกัน ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าและหาสาเหตุกันอย่างกว้างขวาง

จากการรายงานของ Gerontology Research Group (GRG) ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่านักวิจัยในหลาย ๆ สาขาจากทั่วทุกมุมโลก ได้ทำการติดตามบุคคลที่มีอายุมากกว่า 110 ปี หรือที่เรียกว่า “Supercentenarians” พบว่าบุคคลที่มีอายุมากกว่า 110 ปี ร้อยละ 95 เป็นผู้หญิง (44 คนจาก 46 คน)

นอกจากนั้น อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายในหลาย ๆ ประเทศล้วนน้อยกว่าผู้หญิง เช่น อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 76.30 ปี ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงอยู่ที่ 81.30 ปี ซึ่งมีอายุที่แตกต่างกันถึง 5 ปี และอายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายในประเทศไทยอยู่ที่ 71.10 ปี ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงอยู่ที่ 78.10 ปี ซึ่งมีอายุที่แตกต่างกันถึง 6 ปี อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของเพศชายและเพศหญิงแตกต่างกัน

การที่มนุษย์เกิดความเสื่อมชราของร่างกายและนำไปสู่การเสียชีวิตนั้นมีกลไกหลาย ๆ กลไกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่กลไกหนึ่งที่คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมชรานั้น คือ การทำงานของเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ลดลง

มีงานวิจัยหลายๆ งานวิจัยที่กล่าวถึงผลของฮอร์โมนเพศหญิงต่อการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิด เช่น งานวิจัยของ Nakada และคณะ พบว่าในหนูเพศเมียจะมี hematopoietic stem cells มากกว่าในเพศผู้ นอกจากนั้นเซลล์ต้นกำเนิดยังมีการแบ่งตัวมากกว่าด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นในผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์กำเนิดใหม่ อย่างไรก็ตามยังมีคำถามอยู่ว่าการเพิ่มขึ้นของเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างต่อเนื่องในผู้หญิง จะมีผลต่อการมีอายุยืนหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลาย ๆ งานวิจัย ที่พยายามศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนเพศกับความเสื่อมชราของเซลล์ต้นกำเนิด โดยมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ความเสียหายของดีเอ็นเอ (DNA Damage) และ reactive oxygen species (ROS) เช่น การศึกษาของ Sousa-Victor และคณะ พบว่า ความเสียหายของดีเอ็นเอมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมชราของเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งในงานวิจัยนี้ไม่สามารถสรุปได้ว่าความเสียหายของดีเอ็นเอนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเพศหรือไม่ แต่พบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถเหนี่ยวนำให้ยีนที่มีการต้านอนุมูลอิสระแสดงออกได้มากขึ้น รวมถึงลดการเกิด ROS ด้วย ในขณะที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะเพิ่มความเครียด (oxidative stress) มากขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าความเสียหายของดีเอ็นเอถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนเพศ

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาจะพบว่า เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ถูกควบคุมโดยเพศและฮอร์โมนเพศ นอกจากนั้นเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ยังมีความสัมพันธ์กับความเสื่อมชราของร่างกาย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเพศและความเสื่อมชราของร่างกายมีความเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนเท่านั้นเอง

นั่นจึงเป็นความท้าทายแก่เหล่านักวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบสืบต่อไปว่าผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายจริงหรือไม่และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

บทความจาก: http://www.vcharkarn.com/varticle/502732
รูปภาพจาก: http://www.bgirlclub.com/tag/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2
เรียบเรียงโดย: ต้นสนคู่

www.doublepine.co.th
https://www.facebook.com/doublepine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น