วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Trick เล็กๆ การมองหาคน

“ใครๆ ก็อยากได้แต่..คนเก่ง” คำนี้ที่นักสรรหาต้องการ แต่เราจะทำยังไงให้ได้คนเก่ง คำว่า “อยากได้คน กับจะหาได้อย่างไร” นักสรรหาต้องตีโจทย์ให้แตกและค้นหา
“ เลือดใหม่  ไม่น่าสนใจหรือ “ เลือดใหม่หรือที่เรารู้จักกันดีสำหรับเด็กจบใหม่ บางครั้งเรามักได้ยินผู้บริหารพูดเสมอว่า “เราต้องการเลือดใหม่เข้ามาบ้าง” แสดงว่าองค์กรของคุณเริ่มมีปัญหา บางทีจากการทำงานแบบเดิมๆ คุณต้องการพนักงานใหม่ที่จะมาดูแลปัญหาด้วยมุมมองใหม่และทันสมัยสร้างสรรค์ บางครั้งหากเราเปิดโอกาสยอมรับมุมมองใหม่ๆ จากเด็กๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงาน แต่นักสรรหาต้องพิจารณาว่าเราควรนำเด็กใหม่มาทำงานในตำแหน่งใดบ้างที่เหมาะสม เช่น ตำแหน่งนักออกแบบ หรือตำแหน่งที่ต้องใช้จินตนาการ ฯลฯ เพราะเด็กจบใหม่ไฟแรง
แต่ผู้สมัครภายในก็มักเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการหาผู้ร่วมงาน ที่เราต้องการแบบผสมผสานระหว่างแนวความคิดใหม่ๆ กับความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่มีอยู่ โดยการพิจารณาต่อยอดจากเพื่อนร่วมงานของเราที่จะบอกว่า เรามีคนเก่งที่มีคุณภาพที่องค์การต้องการ จำไว้ว่าจะต้องแสดงความยินดีกับเขาเมื่อได้รายชื่อที่เสนอเข้ามาพิจารณา
ท้ายที่สุด ถ้าคุณกำลังมองหาความคิดใหม่ๆ และวิธีคิดใหม่ๆ จากภายนอกองค์กรหรือคลื่นลูกใหม่ คุณอาจจะต้องประเมินดูว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณส่งเสริมความคิดใหม่ๆ และพร้อมเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากพนักงานถูกติเตียนทุกครั้งที่เสนอความคิดใหม่ๆ เขาก็จะรู้ว่าความคิดใหม่ๆ นั้นไม่มีค่า มองกลับไปในองค์กรและดูว่าคุณตอบสนองต่อความคิดใหม่ๆ อย่างไร ก่อนจะคิดว่าคุณต้องการ “เลือดใหม่” เพราะบางทีเลือดเก่าอาจจะมีชีวิตชีวา และสดชื่น ถ้าคุณอนุญาตให้ความคิดใหม่ๆ ผลิบาน

อ่านข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.doublepine.co.th
เขียนโดย ณภัทร  ประสพบุญ

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รายงานที่ดีมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร

เรื่องโดย ธนิษฐา บัวผัน

การประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจผลิตสินค้า แต่ละแผนก แต่หน่วยงาน มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหาร ซึ่งรายงานที่ดีและมีประสิทธิภาพควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เข้าใจง่าย    ผู้จัดทำการรายงานต้องมีความเข้าใจในรายงานที่จัดทำว่าใครเป็นผู้ใช้รายงานนี้ รายงานต้องการนำเสนออะไร  เพื่อให้การนำเสนอตรงประเด็น ผู้อ่านสามารถเข้าใจในรายงานที่นำเสนอโดยใช้เวลาไม่มากนัก ซึ่งการนำเสนออาจจะอยู่ในรูปแบบของช่องตาราง หรือกราฟเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ
2. รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์    รายงานบางชนิด ต้องจัดทำอย่างสม่ำเสมอในทุกสิ้นวัน เช่น รายงานสรุปการรับ-จ่ายประจำวัน รายงานการขายสินค้าเงินสด รายงานการเก็บเงินจากลูกหนี้ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องจัดทำในทุกสิ้นวัน เพื่อให้ผู้บริหารนำข้อมูลของมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ในเวลาที่ต้องการใช้


3. มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถค้นหาต้นตอได้     การนำเสนอรายงานต่างๆ อาจจะต้องแสดงรายละเอียดย่อยประกอบ เมื่อมีข้อสงสัยใดในรายงานสามารถตรวจสอบอ้างอิงกลับได้ มีแหล่งที่ไปที่มาที่น่าเชื่อถือ อันจะนำมาซึ่งความครบถ้วนสมบูรณ์ในรายงานนั้น ๆ
4. จัดทำด้วยข้อเท็จจริง    ยกตัวอย่างกรณีการจัดทำประมาณการทางการเงิน ข้อมูลที่นำมาประมาณการอาจต้องอาศัยข้อมูลในอดีตกับแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อมาจัดทำประมาณการนั้น ๆ
5. สามารถเปรียบเทียบได้    การจัดทำรายงานที่ดี ไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลเฉพาะข้อมูลเดือนปัจจุบันเท่านั้น แต่ควรจะแสดงในรูปแบบของการเปรียบเทียบข้อมูล เช่น เปรียบเทียบเดือนก่อนกับเดือนปัจจุบัน  เปรียบเทียบปีก่อนกับปีปัจจุบัน
6. จัดทำอย่างสม่ำเสมอ     การจัดทำรายงานต้องเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ตามประเภทของรายงานที่จัดทำ เช่น รายงานประจำวัน ประจำเดือน หรือประจำปี