วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เคี้ยวๆ กันเข้าไป สร้างพลังงานไฟฟ้าได้นะ


ถ้าหากว่าใครเป็นคนที่ชอบการกิน หรือการเคี้ยวแล้วล่ะก็ การเคี้ยวหมากฝรั่ง นี่แหละก็จะเป็นข่าวดีสำหรับทุกท่านที่ชอบเคี้ยว เพราะตอนนี้ได้มีคนเกิดไอเดีย แนวคิดใหม่ๆ สามารถเปลี่ยนการเคี้ยวอาหาร หรือเคี้ยวอะไรก็ตาม ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ และนอกจากจะมีเรื่องการเคี้ยวแล้ว แค่มีการพูดคุยก็สามารถสร้างพลังงานได้แล้วละค่ะ อะไรจะล้ำยุคขนาดนี้ ตอนนี้โลกของเรากำลังจะพัฒนาไปเรื่อยๆแล้วค่ะ มีสิ่งประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ตอนนี้เราเข้ามาทำความรู้จักการทำงานของมันกันเลยค่ะ ว่าเจ้าสิ่งประดิษฐ์ตัวนี้มันทำงานอย่างไรกันบ้าง
“Motor Mouth” คือชื่อของอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง มันถูกคิดค้นโดยนักวิจัยชาว แคนนาดา โดยกลไกการทำงานของมันจะใช้การขยับของขากรรไกรของคนเพื่อที่จะไปผลิตกระแสไฟฟ้า รูปร่างของสิ่งประดิษฐ์นี้จะเป็น สายรัดคางธรรมดาที่ถูกติดตั้งเข้ากับ piezoelectric fiber composites (PFCs) ที่ได้รับการฝังขั้วไฟฟ้าเอาไว้ เมื่อมันมีการเคลื่อนที่ (ขากรรไกรของเรามีการยืดหดกลับไปกลับมา) มันจะสร้างกระแสไฟฟ้าได้  นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจเลยทีเดียว และจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
แต่น่าเสียดายที่พลังงานที่มันสามารถสร้าง และปล่อยออกมานั้น ยังไม่สามารถใช้สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือได้ เพราะมันสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้เพียงแค่ 10 Micro Watt เท่านั้น แต่หากจะชาร์จแบตเตอรี่มือถือได้นั้นต้องมีพลังงาน 400,000 – 1,000,000 Micro Watt สำหรับเจ้าสิ่งประดิษฐ์ตัวนี้ยังไม่มีการเปิดขายอย่างเป็นทางการเพราะในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาค่ะ คงต้องรอให้เทคโนโลยีก้าวไปไกลกว่านี้แล้วละถึงจะได้ใช้งานกันจริงๆ
  


วิภาสิริ เฉลิมศิริ (ผู้เขียน)

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มาลองเช็คความสุขของคนในองค์กรกันเถอะ

          ทุกวันนี้หลายๆ ท่านคงจะเถียงไม่ได้ว่า เราอยู่ที่บริษัทมากกว่าที่บ้านเสียอีก ดังนั้น ความสุขขององค์กรถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ กล่าวคือถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข ปริมาณและคุณภาพของงานจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้องค์กรความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าพนักงานไม่มีความสุขผลงานที่ออกมาก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย ลองมาสำรวจกันว่าองค์กรคุณมีความสุขแล้วหรือไม่
1.       ขาด ลา มาสายบ่อยๆ ไม่ดีแน่ๆ
          จริงอยู่ที่คนเรานั้นมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกคน แต่ในองค์กรที่มีประวัติการขาดลามาสายของพนักงานคนเดียวกันบ่อย ๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เพราะหากพนักงานของคุณมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ พวกเขาจะมีความรู้สึกอยากตื่นเช้ามาทำงาน เมื่อพวกเขาไม่เครียดก็จะไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นประวัติการขาดลามาสายจึงช่วยบ่งชี้ได้ว่าคนในองค์กรของคุณมีความสุขอยู่หรือไม่
2.       มีปัญหาในการส่งงาน
หลายคนอาจจะมองพนักงานที่ส่งงานไม่ทันตามกำหนดว่าเป็นคนที่จัดสรรเวลาได้ไม่ดี ทำให้ส่งงานล่าช้า ซึ่งเป็นผลมาจากตัวพนักงานเอง แต่ช้าก่อน อย่าลืมว่าการตัดสินเพียงครั้งสองครั้งนั้นอาจจะไม่ได้ผล คุณต้องลองย้อนกลับไปดูผลงานเก่า ๆ ของพนักงานในองค์กรด้วยว่าก่อนหน้านี้มีพฤติกรรมส่งงานล่าช้าหรือไม่ อย่างไร เพราะคนเราส่วนใหญ่เมื่อได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ แล้วมักจะมีไฟที่จะคิดตรงนู่นเพิ่ม ต่อเติมตรงนี้ใหม่ แล้วส่งงานตามกำหนดเวลา แต่ถ้าจู่ ๆ งานที่เคยส่งตามเวลาได้กลับมีปัญหา หรือไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม อย่าละเลย หัวหน้างานควรพูดคุยเพื่อสอบถามถึงสาเหตุ บางครั้งพนักงานคนนั้นอาจจะมีปัญหาติดขัดในการทำงาน หรืออาจเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่มีความสุขในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน ทำให้งานออกมาไม่ดี
3.       โลกส่วนตัวสูง ไม่คบใครเลย
          สมัยนี้คนที่มีโลกส่วนตัวสูงมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราอาจจะพบเห็นเขาไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร มองผ่าน ๆ อาจจะเป็นลักษณะส่วนตัวของเขา แต่อย่ามองข้ามเพราะแม้ในคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก ๆ เวลาที่ต้องทำงานเป็นทีมอย่างน้อยเขาจะต้องพูดคุยกับเพื่อนในทีม แต่ถ้าหากพนักงานของคุณไม่สุงสิงกับใครเลยแม้แต่หัวหน้างาน ตรงนี้เริ่มน่าเป็นห่วงว่าเขาอาจจะไม่มีความสุขในที่ทำงาน เลยไม่อยากสุงสิงกับคนอื่นก็เป็นได้
4.       กราฟคนเข้า ออกในบริษัทสูงมาก
          ถือเป็นอีกหนึ่งตัววัดระดับความสุขในการทำงานของพนักงานได้ดี เพราะหากบริษัทไหนที่มีอัตราการลาออกโดยสมัครใจที่ค่อนข้างสูง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีปัญหาภายในบริษัท หรือพนักงานไม่มีความสุขในงานที่ทำอยู่ เพราะคนเราเมื่อไม่มีความสุข หรือไม่อยากทำอะไรส่วนใหญ่จะเลือกที่จะเดินหนีออกมาจากปัญหานั้น ๆ ค่ะ
5.       พนักงานหมดไฟไม่ไหวจะไปต่อ
          หลาย ๆ บริษัทชะล่าใจกับการที่พนักงานได้รับการโปรโมท เพราะคิดว่าพนักงานเหล่านั้นคงไม่อยากแข่งขันกับใคร ซึ่งอันที่จริงมีพนักงานบางส่วนที่มีแนวความคิดเช่นนี้ แต่ถ้าเขามีความสุขในที่ทำงาน ผลงานจะออกมาดี กลับกันพนักงานที่ไม่อยากได้รับการโปรโมท ไม่อยากทำงานเพื่อเลื่อนขั้น อาจจะเป็นประเภทหมดไฟหรือไม่มีความสุขในที่ทำงานบางคนคิดว่าทำงานหนักแค่ไหนก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ถ้าอย่างนั้นก็ทำงานเท่าที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น หรือบางคนอึดอัดกับการทำงาน ทำให้รู้สึกว่าทำงานไปวัน ๆ ก็ได้ จะได้ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร
6.       KPI สูงแค่ไหนก็ไปถึง
          ในองค์กรที่พนักงานมีความสุขกับงานที่ทำนั้น ผลงานที่ได้จะดีมีประสิทธิภาพ พนักงานจะใส่ใจและทุ่มเทกับงานที่ได้รับ มุ่งมั่นที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด แม้ว่าหลาย ๆ บริษัทมีวางเกณฑ์ KPI ที่สูงมาก แต่ถ้าพนักงานมีความสุขในองค์กรแล้ว พวกเขาจะร่วมมือกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายจนสำเร็จ
7.       ลูกค้าหน้าเก่าไว้ใจ หน้าใหม่มีความเชื่อมั่น
          ถ้าพนักงานมีความสุขกับงานที่ทำผลงานย่อมออกมาดี ส่งผลให้ลูกค้าประทับใจในบริการ ทำให้ลูกค้ายังคงใช้บริการกับบริษัท ต่อไป กลับกันถ้าบริษัทของคุณมีแนวโน้มที่ลูกค้าเก่าไม่กลับมาใช้บริการอีกเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารอย่าลืมใส่ใจหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมลูกค้าจึงไม่ใช้บริการต่อ สาเหตุอาจเกิดมาจากการที่พนักงานไม่มีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ไม่มีแรงจูงใจทำงาน ผลงานก็ออกมาไม่ดี ลูกค้าหายหมด
8.       บริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
          ถ้าสินค้าหรือบริการไม่ดีย่อมไม่มีทางที่บริษัทนั้น ๆ จะสามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอน และองค์กรที่พนักงานมีความสุขในที่ทำงานย่อมส่งผลมาถึงผลงาน (สินค้า) หรือบริการด้วยอย่างแน่นอน ฉะนั้นผลประกอบการที่เป็นไปตามเป้าจึงสามารถช่วยวัดความสุขในที่ทำงานได้ด้วยเหมือนกัน
          การสร้างความสุขในที่ทำงานนั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันตั้งแต่ผู้บริหารที่วางนโยบายควรใส่ใจและคำนึงถึงความสุขและความใส่ใจของพนักงานด้วย ฝ่ายบุคคลก็ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้น่าทำงาน ผู้จัดการก็ต้องใส่ใจลูกน้องในทีมว่ามีปัญหาส่วนตัวหรือมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ ต้องรู้จักกระตุ้นและให้กำลังใจลูกน้องตามสมควร ซึ่งองค์กรที่พนักงานมีความสุขกับงาน บรรยากาศในการทำงานราบรื่น จะช่วยให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่งผลให้องค์กรพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

ผู้เขียน; จันดี ทองพันชั่ง (ต้อม)
DPine Suite by Doublepine
อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจาก; http://th.jobsdb.com



วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การลดหย่อนภาษี การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล


ผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค ไปหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 


           1. ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดา เฉพาะการบริจาคเป็นเงิน ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหน่วยงานราชการที่เปิดรับบริจาคเป็นการเฉพาะ เช่น 
           บัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลขบัญชี 067-0-10330-6 เป็นต้น หรือผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เช่น สถานีโทรทัศน์หรือมูลนิธิ ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น 
           ผู้บริจาคสามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนในการ คำนวณภาษีได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ด้วย) แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว โดยใช้หนังสือสำคัญการรับเงินบริจาคที่ส่วนราชการ หรือนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนรับบริจาคออกให้ หรือใบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรือสลิปของธนาคาร เพื่อเป็นหลักฐานในการนำไปหักลดหย่อนต่อไป 

           2. ผู้บริจาคที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคไป หักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค นอกจากนี้กรณีการบริจาคทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันสมควรที่ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน

           ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต้องนำเงินและทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาทั้งจำนวนนั้น ไปบริจาคให้แก่หน่วยงานของ ส่วนราชการไทยเท่านั้น เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และหน่วยงานราชการนั้น จะต้องออกหนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการบริจาคโดยมียอดเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นยอดรวมทั้งสิ้นตรงกับยอดที่รับบริจาคมาทั้งจำนวน กรณีนี้ผู้บริจาคตามข้อ 1 และข้อ 2 จึงจะได้รับสิทธินำยอดเงิน หรือทรัพย์สินที่บริจาคไปหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายได้ แต่หากตัวแทนรับบริจาคนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยโดยตรง ผู้บริจาคจะไม่ได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนแต่อย่างใด

ผู้เขียน; จันดี ทองพันชั่ง (ต้อม)
DPine Suite by Doublepine 
อ้างอิงและเรียบเรียงข้อมูลจาก; http://www.sso.go.th


วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สิ่งที่คนประสบความสำเร็จทำก่อนนอน และหลังตื่นยามเช้า

เราทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่เคียงคู่กับการนอนหลับ และหากมีกลเม็ดเด็ดที่สามารถนำประโยชน์จากการนอนมาเสริมสติปัญญาและความสามารถของเราให้เพิ่มมากขึ้นถือเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย โดยเราสามารถสร้างสรรค์ 3o นาทีก่อนนอนให้เป็นโอกาสทองในการสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิต ต่อยอดทางความคิด สามารถพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้านของคุณให้กลายเป็นคนยอดเยี่ยม ดังนั้นเราควรเปลี่ยนความเคยชินก่อนนอน 30 นาทีแรกป้อนข้อมูลที่ดีให้กับสมอง ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่คุณชอบอย่างเต็มที่ หรือหาข้อมูลที่นอกเหนือความถนัดของตนให้มากๆ นั้นเป็นการทำให้ความคิดที่น่าสนใจเกิดขึ้นในยามหลับได้ ข้อมูลที่เป็นภาพที่ได้รับก่อนนอนหลับจะส่งเข้าสู่สมองและลงสู่จิตใต้สำนึกเสริมสร้างเป็นความทรงจำระยะยาว ดังนั้นเราจึงควรสร้างตัวตนที่เราอยากจะเป็นจาก 3o นาทีก่อนนอนแล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์



         ส่วนช่วงเวลายามเช้า ยามเช้าที่วิเศษนั้นก็คือการเริ่มวันใหม่ที่ดีเมื่อยามเช้าเปลี่ยน ทั้งวันก็เปลี่ยนชีวิตก็เปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นงานหรือการเรียนก็ตาม ซึ่งสิ่งที่เราควรทำยามเช้าประกอบด้วย

     1. ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายเพิ่มพลังยามเช้าให้สดชื่น
     2. กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่เพียงเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกายแต่ยังช่วยให้มีสมาธิด้วย เพราะการเริ่มทำงานในสภาพท้องว่างย่อมทำให้การทำงานเชื่องช้าลงนอกจากนี้การกินมื้อเช้าพร้อมหน้าพร้อมตายังช่วยให้สายใยในครอบครัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
     3. วางแผนประจำวัน ตอนเช้าตรู่ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการวางแผนเพราะเป็นเวลาที่เงียบสงบ มีสมาธิสมองโปร่ง
     4. เริ่มต้นวันด้วยการทำสิ่งที่ยากที่สุด เพราะเวลายามเช้าเป็นเวลาที่มนุษย์ใช้พลังสมาธิได้สูงสุด 
     5. นึกภาพความสำเร็จในสมอง เมื่อเริ่มต้นวันนั้นด้วยทัศนคติเชิงบวกจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นและมุมมองเกี่ยวกับงานในเชิงบวก เสียเวลาเล็กน้อยในการสร้างสมาธิจินตนาการภาพความสำเร็จ คุณจะเกิดแรงบันดาลใจอย่างไม่น่าเชื่อ

  ดังนั้นเราควรสร้างความเคยชินในการเปลี่ยนแปลงชีวิตก่อนนอนและหลังตื่นนอนเพื่อให้คุณเป็นคนใหม่ที่เยี่ยมยอดกันเถิด

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แผนกลยุทธ์ Strategic Plan จำเป็นกับแค่บริษัทใหญ่ๆ จริงหรือ


           การวางแผนกลยุทธ์เริ่มนิยมกันตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1950 ในโลกตะวันตก และในปีถัดมา ค.ศ. 1960 บริษัทจำนวนมากได้นำมาสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และกลายเป็นสิ่งจำเป็น(1) เนื่องจากแผนกลยุทธ์สามารถสร้างแนวโน้ม และทำนายอนาคตได้ ที่กล่าวไปนั้น ไม่มากก็น้อยสามารถทำให้บริษัทที่จัดทำแผนกลยุทธ์สามารถลดอุปสรรค และเตรียมความพร้อมให้กับเหตุการณ์ ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้




          “แผนกลยุทธ์เป็นเรื่องขององค์กรใหญ่ๆ บริษัทเล็กๆ ยังไม่จำเป็นหรอก”  อาจจะกล่าวได้ว่าผู้นั้นยังไม่เข้าใจความสำคัญของแผนกลยุทธ์อย่างถ่องแท้ เพราะตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น แผนกลยุทธ์สามารถทำนายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นแผนงานที่องค์กรต่างๆ ดำเนินกิจการเพื่อให้บรรลุผลตามแผนงานที่ระบุไว้ 

เพราะแผนกลยุทธ์จัดทำจากการวัดวิเคราะห์ SWOT ที่ต้องสอดคล้องกับ Goal, Vision, Mission และ Balance Scored Card ขององค์กรนั้นๆ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่จัดทำแผนกลยุทธ์ทุกปีการดำเนินกิจการจะมั่นคง เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็ได้เตรียมแผนเพื่อตั้งรับเหตุการณ์เหล่านั้นไว้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากแผนกลยุทธ์ที่วางไว้นั้น กำเนิดมาจากผลที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้า และการมองเห็นโอกาสในปีถัดไป นั้นจึงทำให้แผนกลยุทธ์สร้างความได้เปรียบให้แก่องค์กรได้นั้นเอง

          แต่ถึงกระนั้น หากองค์กรต่างๆมีระบบการบริหารงานครบถ้วนแต่ขาดการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ ก็อาจจะทำให้การวิเคราะห์เกิดข้อผิดพลาดได้  การวางระบบการจัดการข้อมูลเพื่อใช้ในการประมวล และวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น ความสำเร็จ – อุปสรรคในแต่ละกิจกรรมนั้นคืออะไร เราสามารถสร้างโอกาสได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วอย่างไร  อาจจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนในการสร้างแผนกลยุทธ์ในปีหน้าของท่านก็ได้

อ้างอิง (1) http://www.snc.lib.su.ac.th/