วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร

ในยุคปัจจุบัน การทำงานเก่งอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดในองค์กรที่มีการแข่งขันกันตลอดเวลาได้ เพราะทุกภาระและหน้าที่ ล้วนต้องมีการติดต่อประสานงานกับตำแหน่งต่างๆ กว่าที่จะทำงานประสบความสำเร็จได้แต่ละชิ้น ก็ต้องได้รับการสนับสนุน และช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ ดังนี้

1.บุคลิกภาพ (Personality) คำว่าบุคลิกภาพที่ดีไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา ท่าทางและการแต่งกายที่ดีเท่านั้น แต่บุคลิกที่ดีต้องประกอบทั้งรูปลักษณ์ภายนอก รวมทั้งสิ่งที่อยู่ภายใน คือ ความคิด ค่านิยม ทัศนคติ วิสัยทัศน์ อีกด้วย ลักษณะของคนที่มีบุคลิกดีคือ รูปลักษณ์ภายนอกโดยภาพรวมต้องดูดี รู้จักกาลเทศะ รู้จักแสดงออกเรื่องอารมณ์อย่างเหมาะสม และสามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคนที่มีบุคลิกภาพดีพร้อมทั้งภายนอกและภายในจะเป็นคนที่มีเสน่ห์ เป็นที่รักใคร่ และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ทำให้การทำงานราบรื่นและประสบความสำเร็จได้
2.มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (Modesty) คือการมีกิริยามารยาทสุภาพ สงบเสงี่ยม ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ควรถือว่าการถ่อมตน หรือการยอมให้คนอื่นเป็นการเสียศักดิ์ศรี แต่คิดว่าจะนำมาซึ่งความรักใคร่เพราะไม่มีใครชอบคนที่ยกตนข่มท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อาวุโสกว่า หรือผู้บังคับบัญชา ฉะนั้นการทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้อาวุโสและเจ้านายจะเอ็นดู พร้อมจะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและสอนงานให้ถ้าสามารถทำตัวเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของเพื่อนร่วมงานและเจ้านายได้ ก็ถือว่าสร้างความสำเร็จในการทำงานได้เกินครึ่ง ในขณะเดียวกันในฐานะเจ้านายการสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องก็ไม่ควรใช้พระเดชคือการใช้อำนาจหรือสั่งการเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็นบ้าน และต้องสอนงานรวมทั้งแนะนำเมื่อลูกน้องไม่เข้าใจหรือมีข้อผิดพลาดในการทำงาน
3.ความเป็นเพื่อน (Friendly) และมีน้ำใจช่วยเหลือ ( Helpful) ควรทำตัวให้สนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน ให้ความเป็นกันเองวางตัวธรรมดา ไม่ควรถือตัวหรือหยิ่งจองหอง ไม่ว่าฐานะทางเศรษฐกิจ หรือฐานะทางสังคมของเราจะสูงกว่าเพื่อนร่วมงานก็ตาม แต่เมื่อทำงานร่วมกันก็ต้องถือว่ามีสถานะเท่ากัน รวมทั้งเต็มใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มกำลังทั้งกายและใจ กำลังความคิด ในลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนร่วมงานคนที่มีความเป็นเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี และถ้าเป็นเจ้านายการสร้างความรู้สึกให้พนักงานเกรงกลัวเพียงอย่างเดียวจะไม่เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ลูกน้องจะเครียดและไม่กล้าแสดงความคิดเห็น แต่ควรจะสร้างบรรยากาศให้พอเหมาะพอดีระหว่างความเคารพยำเกรง กับการกล้าแสดงออก กล้าโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็น
4.มีความกระตือรือร้น (Enthusiasm) และความรับผิดชอบ (Responsibility) คือมีความกระตือรือร้นและการทำงานทุกชนิด ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถสนุกกับงาน มีความภูมิใจในหน้าที่และงานที่ทำ ทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง รวมทั้งรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี และเป็นคนที่รับผิดชอบต่อคำพูด คำมั่นสัญญารักษาเวลา ทำตัวให้เป็นคนมีเกียรติ เป็นที่เชื่อถือได้ มีความซื่อตรง สุจริตในงานที่ทำ เป็นที่มาของความสำเร็จในการทำงานทุกชนิด ในฐานะลูกน้องก็ต้องทำงานให้เสร็จทันเวลาที่ได้รับมอบหมาย ทำงานด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ ในขณะเดียวกันถ้าเป็นเจ้านายก็ต้องรักษาคำพูด รักษาสัญญาที่ให้ไว้แก่ลูกน้อง เช่นเรื่องของการให้โบนัส การขึ้นเงินเดือนให้รางวัลพิเศษหรือการเลื่อนตำแหน่งก็ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้เช่นกัน
5.มีปฏิภาณไหวพริบ (Intelligenced) และความคิดสร้างสรรค์ (Constructive) ต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดีในการทำงาน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน จำชื่อและรายละเอียดของคนที่ต้องติดต่องานเห็นว่าให้ความสำคัญกับเขา และถ้าผู้บังคับบัญชาระดับสูงสามารถจำชื่อและรายละเอียดเกี่ยวกับพนักงานระดับล่างได้จะยิ่งสร้างความประทับใจความชื่นชมในตัวผู้บริหารมากยิ่งขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นเจ้านายหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งก็คือต้องสามารถช่วยลูกน้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เสมอ ที่สำคัญต้องมีความคิดแปลกใหม่ เป็นความคิดในทางที่ดีเพื่อสร้างความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าในการทำงานและองค์กรโดยรวม คนที่มีความคิดแปลกใหม่จะมีคุณสมบัติโดดเด่นในที่ทำงานและก้าวหน้าในด้านหน้าที่การงานได้ไม่ยาก
6.มีความขยันขันแข็ง (Diligent) และมีความพยายาม (Attempt) คือการขยันทำงานตามหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ต้องมีความเพียร ความพยายาม ฝึกฝน การเรียนรู้เพื่อการทำงานที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม รู้จักปรับปรุงตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนที่เรียนรู้ ปรับตัวพัฒนาตนเองอยู่เสมอเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้นคนที่ขยันขันแข็ง มีความพยายามจะเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน และกลายเป็นคนโปรดของเจ้านายได้
7.มีความอดทน (Patient) อดทนต่อความเหนื่อยยาก ความลำบากในการทำงาน เพราะความสำเร็จทุกอย่างไม่เคยได้มาโดยง่าย แต่ต้องมีความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และไม่กลัวความล้มเหลว ทั้งอุปสรรคในการทำงาน และอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเด็กใหม่ หรือคนใหม่ในองค์กร มักจะถูกตั้งข้อรังเกียจหรือตั้งกำแพงจากเพื่อนร่วมงานดังกล่าว และต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับโดยใช้เวลาไม่มาก
8.ให้ความเคารพนับถือ (Respect) และรู้จักแสดงความยินดีหรือสรรเสริญผู้อื่นด้วยความจริงใจ การสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานและเพื่อนร่วมงานที่ดีต้องไม่ขัดเขินในการแสดงความยินดีกับผู้ที่ควรได้รับการยกย่อง เช่น เพื่อนร่วมงานที่เป็นพนักงานดีเด่น สร้างชื่อเสียงให้องค์กร นอกจากนี้ควรเคารพนับถือในความอาวุโส ตำแหน่งหรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า เพราะวัฒนธรรมองค์กรของการทำงานกับคนไทยและคนเอเชียคือ การให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่านั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในฐานะเจ้านายต้องรู้จักการชมเชยลูกน้องเมื่อทำงานดี ทำงานสำเร็จ เพราะคำชมและการยอมรับในผลงานของเจ้านายบางครั้งมีค่าแก่พนักงานมากกว่าการขึ้นเงินเดือนด้วยซ้ำ

เรียบเรียงข้อมูลโดย ต้นสนคู่

ที่มา http://iss.nectec.or.th/hrmag/showpage.php?vol=16&sub=3&id=0

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

8 สัญญาณที่บ่งบอกว่า"ชีวิตการทำงานมาถูกทาง"

      คนที่รู้ตัวเองมาตั้งแต่ต้นว่าตัวเองชอบทำงานอะไรนั้น นับว่าเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ในโลกใบนี้แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่เลย... กำลังสงสัยอยู่หรือเปล่าว่าทางเดินที่กำลังเดินอยู่นี้ เราเดินมาถูกทางหรือเปล่า?
ช่วงอายุ 20-30 ปีของคนส่วนใหญ่ จะเป็นช่วง soul-searching (หรือช่วงค้นหาตัวเอง) ก็คือทำงานประจำอะไรสักอย่างหนึ่งอยู่แต่ลึกๆ ในใจจะสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า เราเหมาะกับงานที่เรากำลังทำอยู่จริงๆ เหรอ? เรากำลังมาผิดทางอยู่หรือเปล่า? ส่วนบางคนก็ใช้วิธีหนีไปเรียนต่อเพื่อหลีกเลี่ยงชีวิตทำงานที่มีแต่งานที่ตัวเองไม่ได้รู้สึกว่าชอบ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้แน่ใจด้วยว่าสายงานที่ไปเรียนต่อนั้น คือสายงานที่เราชอบจริงๆ แต่เรียนต่อเพื่อซื้อเวลาที่จะต้องตัดสินใจให้เลื่อนออกไปเรื่อยๆ เท่านั้น 
    ด้วย 8 สัญญาณต่อไปนี้ จะทำให้เราตอบคำถามที่อยู่ในใจได้ว่าเราควรจะหยุดเดินเพื่อเปลี่ยนเส้นทางใหม่ หรือเดินต่อไปในเส้นทางนี้อย่างมั่นคง


     1.ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำงานอยู่
ถ้าชีวิตการทำงานของเรา ไม่ได้เป็น "งาน" มันเป็นวิถีของการมีชีวิตอยู่ การทำงานของเราสามารถสร้างไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการได้รวมไปถึงสร้างวิถีการทำงานของเราได้ดั่งใจ หากหลายครั้งที่เราหยุดถามตัวเองว่า "เดี๋ยวนะ! นี่ฉันกำลังทำงานนี้อย่างจริงจังอยู่หรือเปล่าเนี่ย?" เราแทบจะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการทำงาน การเล่นและการใช้ชีวิตออกจากกันได้ ทุกสิ่งที่เราทำมันเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามวิสัยทัศน์ของเรา นั่นคือสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังมาถูกทางแล้ว
2.สอดคล้องกับทัศนคติ
ชีวิตการทำงานของเราเป็นส่วนขยายความเชื่อและมุมมองส่วนตัวของเรา เรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์เพราะเราทำในสิ่งที่สอดคล้องกับความคิดของเราเองว่าเราเป็นใคร ต้องการทำอะไร การอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นจุดที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจ ทำงานตามวิสัยทัศน์ เราสามารถทำงานได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งและเป็นจริง การทำเช่นนี้จะทำให้โลกของเรามีชีวิตที่ดีและสวยงาม
3.ยินดีที่จะพบเจอ
Passion (ความหลงใหล) มาจากคำศัพท์ภาษาละตินว่า Pati หมายถึง "ประสบพบเจอ" ชีวิตการทำงานของเรามีค่าน้อยมากถ้าเทียบกับความรัก ความหลงใหลและความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน การเดินทางจะมีความท้าทายตลอดเวลา และเราไม่เคยคิดจะพ่ายแพ้ต่อมัน เราจะทนต่อความยากลำบาก การถูกปฏิเสธ การเสียสละ อุปสรรคเหล่านี้จะกระตุ้นให้เราทำการใหญ่ยิ่งขึ้น ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับการเรียนรู้และเจริญเติบโต มองเห็นคุณค่าของความลำบากนั้นเป็นช่วงเวลาที่สวยงามและมีความสุข
4.ทำไมเวลาผ่านไปเร็วจัง
ดูเหมือนว่าเราจะหลงไปกับกระแสของเวลา มีความสุขกับการทำงานจนลืมมองนาฬิกาไปเลย พอหันไปดูเวลาอีกทีก็พบว่านั่งทำงานอยู่ตรงนี้มา 5 ชั่วโมงแล้ว! สัญชาตญาณบอกให้เราทำงานตรงหน้าโดยไม่รู้สึกเบื่อหรือเหน็ดเหนื่อยเลย ความรู้สึกเช่นนี้ไม่สามารถบังคับได้ มันจะเกิดขึ้นเองเมื่อเราเจอกับงานที่ใช่
5.ปรับห้องทำงานให้เหมาะกับการอยู่อาศัย
การทำงานของเราให้ความรู้สึกแบบที่ว่าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเต็มที่และสนุกไปกับมัน แม้ว่าเราจะหลงรักและมีความสุขการทำงานมากเท่าไหร่ ห้องที่อยู่นั้นก็จะมีบรรยากาศที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายง่ายๆ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้เราได้อย่างมากทีเดียว
6.ความรับผิดชอบเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่
เมื่อเราค้นพบว่าชีวิตการทำงานของเรามันใช่เลย! คำถามที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบจะเป็นเรื่องง่าย ไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ ที่จะโผล่มาถามว่า แน่ใจนะว่างานนี้เหมาะกับเรา? หัวใจของเราบอกว่าใช่ ร่างกายก็บอกว่าใช่ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเฉกเช่นเดียวกับการหายใจ เราไม่สามารถจินตนาการว่าเราจะไปทำงานอย่างอื่นได้อย่างไรถ้าไม่ใช่ทำงานนี้!
7.ผู้คนสังเกตเห็นพลังงานในตัวเรา
"คุณดูมีชีวิตชีวาจัง" หรือ "ฉันไม่เคยเห็นคุณมีความสุขและดูสุขภาพดีขนาดนี้" "ไม่ต้องถามเลยว่าคุณกำลังตั้งใจทำสิ่งใดอยู่ มันทำให้คุณดูดีมาก" นี่อาจะเป็นหนึ่งในหลายประโยคที่เราอาจได้ยินจากคนใกล้ตัวของเรา เมื่อเราอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง ในตอนแรกพวกเขาอาจจะเป็นห่วงและกังวล แต่เมื่อเห็นเรามีความเจริญรุ่งเรื่องในสิ่งที่ทำ พวกเขาจะสังเกตเห็นความรักของเราที่มีต่องาน และสนับสนุนในความพยายามของเรา
8.หลับสนิทและพร้อมเสมอสำหรับวันรุ่งขึ้น
ทุกคืนที่เข้านอน เราจะขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นตลอดวันและหลับตาลงอย่างเป็นสุข เราจะรู้ตัวเองว่าเรากำลังเดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง เราใช้เวลาทั้งหมดของวันไปกับสิ่งที่เรารัก และไม่สามารถรอที่จะทำมันทั้งหมดอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น นี่คือชีวิตของเรา และไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตแบบอื่นได้อีก                                                                                             

อ้างอิง: http://incquity.com/articles/8-signs-you-found-right-job

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เมารถ...เรื่องเล็ก


      ก่อนอื่นเรามารู้จักกับสาเหตุของการเมากันก่อนเลย โดยปกติแล้วสมองต้องมีการรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายและตำแหน่งของศีรษะตลอดเวลา เพื่อที่จะควบคุมท่าทางต่างๆของร่างกาย รวมถึงศีรษะด้วย การรับรู้ด้านการทรงตัวของสมองนั้นจะทำงานประสานกันระหว่าง 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ อวัยวะรับรู้การเคลื่อนไหวภายในหู ตา และการรับสัมผัสบริเวณอื่นๆทั่วร่างกาย การประมวลผลจากสมองด้านสั่งการ จะเข้ามามีส่วนในการประเมินและควบคุมการทรงตัวของร่างกายและศีรษะ โดยทำงานร่วมกับอวัยวะทั้ง 3 ที่ได้กล่าวไป ซึ่งสมองจะทำการประมวลผลว่าต่อไปการเคลื่อนไหวของร่างกายและตำแหน่งศีรษะจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการช่วยให้สมองเตรียมพร้อมแล้วส่งคำสั่งไปที่กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อแขนขา เพื่อให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง การควบคุมการเคลื่อนไหว จึงเป็นการทำงานประสานกันระหว่างสมองส่วนการสั่งการและการรับรู้ 

      ดังนั้น เมื่อเราขับรถ แล้วสมองสั่งการให้หมุนพวงมาลัยรถ สมองก็จะสั่งการให้กล้ามเนื้อคอและตาหันไปดูทางโค้งที่จะเลี้ยว และรับรู้ภาพของทางโค้ง และประมวลผลว่าตำแหน่งของร่างกาย สอดคล้องกับภาพที่รับรู้ไว้หรือไม่ ดังนั้นผู้โดยสาร จึงมักเกิดอาการเมาความเร็วหรือที่เรียกว่าเมารถได้ง่ายกว่าผู้ขับ เพราะผู้โดยสารนั้นจะประเมินการเคลื่อนไหวจากอวัยวะการรับรู้เท่านั้น ไม่มีการทำงานของสมองส่วนสั่งการมาช่วยประมวลผล จึงไม่มีการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกาย หากข้อมูลที่รับมาจากอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นเกิดความไม่สอดคล้องกันก็จะเป็นเหตุให้เมารถได้นั่นเอง ปัจจัยที่ทำให้คนเมายากง่ายไม่เท่ากันนั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น

    - เพศ ปกติแล้วเพศหญิงจะเมาง่ายกว่าเพศชาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอายุด้วย

    - อายุ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ มักจะทนต่อการเมารถ ส่วนอายุที่พบว่าเมารถมากที่สุดคือเด็กอายุ 12 ปี และหลังจากนั้นอาการเมารถจะน้อยลงเรื่อยๆไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น

    - ฮอร์โมน ผู้หญิงท้องจะมีโอกาสเมารถได้ง่ายขึ้น รวมทั้งระยะของวงรอบประจำเดือนของผู้หญิงก็มีผล ยาคุมกำเนิดของผู้หญิงก็มีผลเช่นกัน


    - โรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ จะทำให้การรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะไวกว่าปกติ
    - โรคไมเกรน คนที่เป็นโรคไมเกรน หรือมีอาการปวดหัวอยู่เดิม จะทำให้สมองมีความไวในการรับรู้ความรู้สึกต่างๆมากกว่าปกติ
    - ปัจจัยทางจิตวิทยา เคยไหม บางครั้งถ้าเราไม่คิดว่ามันจะเป็นบางทีมันก็ไม่เป็น
    - รูปแบบการเคลื่อนที่ ความถี่ของการเคลื่อนที่และทิศทาง เช่น เลี้ยวซ้ายติดกัน 10 ครั้ง
    - ท่าทางของร่างกาย ผลการวิจัยบนเรือ(ไม่ใช่รถ) พบว่าท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้เมาน้อยที่สุด
    - ความเคยชิน การรับรู้ของอวัยวะในหูชั้นในนั้นตอบสนองน้อยลง เมื่อมีการตอบสนองอยู่บ่อยๆ จึงทำให้คนที่นั่งบ่อยๆไม่เป็น

เทคนิคที่ช่วยบรรเทาอาการเมารถ

1. นั่งแถวหน้าๆ หันหน้าไปทางหน้ารถ เพราะการนั่งหน้ารถและมองไปข้างหน้า จะทำให้ทั้งตาและหูของเรารับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อมๆกับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า
2. จินตนาการว่าตัวเองเป็นคนขับรถเอง เพราะคนขับมักจะไม่ค่อยเมารถ เวลารถจะเลี้ยวก็คาดการณ์ล่วงหน้า และรู้ตัวขณะที่ร่างกายต้องหมุนเลี้ยวตามรถ สมองก็จะเกาะติดสถานการณ์ได้ทัน ไม่เกิดความสับสน
3. มองไปไกลๆ จับเส้นขอบฟ้าไว้เป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่บน อยู่ล่าง อะไรอยู่ซ้าย หรืออยู่ขวา ขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหววกไปวนมา ต้องหามองอะไรที่ไกลๆและนิ่งๆ และรู้ตัวว่าตัวเรากำลังเคลื่อนไหวไป ขณะที่จุดนั้นนิ่ง เพื่อให้สมองทราบสถานะและตำแหน่งของตัวเองได้ถูกต้อง
4. อย่าอ่านหนังสือหรือตั้งใจมองอะไรที่เป็นของเล็กๆ และเขย่าๆ หรือเคลื่อนไหวบนรถ เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรากับวัสดุในรถจะไม่ไปด้วยกันทำให้สมองสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของตัวเอง
5. ตั้งศีรษะให้ตรง ให้ศีรษะได้อยู่นิ่งๆ เวลารถเลี้ยวก็ให้รู้ตัวว่ากำลังหันไปตามการเลี้ยวของรถ อย่าให้ศีรษะไปพิงกับส่วนของรถที่เขย่าๆไปตามแรงกระแทกและการเคลื่อนไหว ถ้าจะพิงพนักก็ให้ใช้หลังพิงโดยให้ศีรษะตั้งตรงขึ้น อย่าฟุบหน้าลง หรือเอนศีรษะไปพิงอะไรข้างๆ จะทำให้ตัวเองอยู่ในสภาพถูกจับแกว่งไกวขณะที่รถเลี้ยวไปมา
6. เมื่อเริ่มวิงเวียน การสูดหายใจลึกๆ รับลมเย็นๆจากหน้าต่างรถ หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้าผากและหน้า จะช่วยลดอาการได้
7. การดมกลิ่นเปลือกส้มเขียวหวาน (บีบให้มันพ่นกลิ่นออกมา) และกลิ่นเปลือกพริกขี้หนู (เอาพริกขี้หนูหลายๆเม็ดใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ) ก็ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้เช่นกัน
8. ใช้จิตวิทยากันตนเอง วางฟอร์ม ตั้งสติ ไม่ยอมแพ้แก่การเมา จะช่วยได้มาก เพราะสมองรับอิทธิพลจากสัญญาณทั้งที่มาจากจิตสำนึกและจากประสาทอัตโนมัติ ควรคอยบอกตัวเองว่าอย่าเสียฟอร์มต่อหน้าคนอื่นนะ คู่สนทนาขณะเมารถต้องเป็นคนที่ดึงจิตเราให้สูงขึ้น เช่น เป็นคนให้กำลังใจ อย่าสนทนากับคนที่กำลังพ่ายแพ้แก่อาการเมาเหมือนกัน เพราะจะพากันอ๊วก
9. หากทำท่าจะแพ้ หมดแรงสู้ ให้นอนลงแล้วหลับตาเพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมองเป็นการลดความสับสน ให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัวที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าม่อยหลับไปจริงๆเลยได้ยิ่งดี เพราะขณะนอนหลับ สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะปิดรับสัญญาณเข้าใดๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันก็จะไม่มี อาการเมารถก็จะหายไปเอง

แหล่งข้อมูล
http://www.headlightmag.com

http://visitdrsant.blogspot.com

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

10 เครื่องมือวัดผลทางการตลาดออนไลน์ฟรี!ที่นักการตลาดไม่ควรพลาด (ตอน 2)


กลับมาต่อว่ามีเครื่องมืออะไรอีกบ้างที่ช่วยวัดผลการทำการตลาดออนไลน์ เพิ่มอีก 5 เครื่องมือฟรีๆ กันดีกว่า

6. Similarweb (www.Similarweb.com)
จะมีความคล้ายคลึงกับ Alexa มาก แต่มีข้อมูลลึกกว่ามาก และมีในสิ่งที่นักการตลาดต้องการวิเคราะห์เว็บไซต์ และคู่แข่ง เช่น ประเทศของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ลูกค้ามาจากไหน โซเชียลมีเดียที่ใช้ เว็บที่มีคล้ายคลึงกัน เป็นต้น

7. Truehits (www.Truehit.net)
ผู้ให้บริการเก็บข้อมูล และสถิติของเว็บไซต์ของไทย ลักษณะจะคล้ายกับ Google Analytics แต่มีความโดดเด่นกว่าที่มีการจัดอันดับในเว็บไทย ละยังมีการแบ่งหมวดหมู่ตามแต่ละประเภทเอาไว้ ทำให้เรารู้ได้ว่าเว็บไหนติดอันดับฮิตในประเทศไทย

8. ZocialRank (www.zocialrank.com)
หากต้องการดูข้อมูลด้านโซเชียลมีเดียของเรา หรือของคู่แข่งไม่ว่าจะมาจากช่องทาง Facebook, Instragram Twitter Youtube รวมถงการเช็คอันดับของโซเชียลมีเดียตัวเองในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียน แบ่งเป็นหมวดหมู่กลุ่มอุตสาหกรรม และยังมีการจัดอันดับของแบรนด์ในแต่ละประเทศอีกด้วย

9. Google Trends (www.google.com/trends)
ถ้าต้องการทราบว่าคนนิยมอะไรบ้างสามารถใช้ Google Trends วิเคราะห์และหากันว่าคนทั่วโลก หรือคนไทยนิยมอะไรมากที่สุด โดยใช้คำ หรือคีย์เวิร์ดที่คนนิยมหาผ่านทาง Google ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จะทำให้เห็นพฤติกรรมว่าคนนิยม หรือต้องการอะไรซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้ม และเทรนด์ของช่วงนั้นๆ และยังสามารถเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้อีกด้วย

10. Google Webmaster Tools (http://www.google.com/webmasters)
ต้องยอมรับว่าการทำให้เว็บไซต์ติดอันดับใน Google (Search Engine Optimization) ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งมากในการทำการตลาดออนไลน์ ดังนั้นหากเราสามารถจัดการ หรือสั่งการ Google เพื่อให้รู้จักเว็บไซต์มากขึ้นคงจะดีมาก Google จึงได้สร้างเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับคุมและสั่ง Google ที่เข้ามาในเว็บไซต์ของคุณ ไว้ที่ Google Webmaster Tools โดยที่คุณสามารถดู และจัดการบริหารจัดการ Google กับเว็บไซต์ของคุณได้อย่างง่ายดาย

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเครื่องมือฟรี ที่มีชื่อเสียง อาจมีบางเว็บไซต์ที่หากต้องการให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมาขึ้นอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องใช้เครื่องมือหลายๆตัวร่วมกัน จึงทำให้เห็นและวัดข้อมูลได้แม่นยำทำให้เรารู้ได้ว่ากิจกรรมการตลาดตัวไหนที่ทำมันเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค และยังสามารปรับแต่ง (Optimize) การตลาดของคุณได้ทันท่วงที (Real Time) แต่การจะได้ข้อมูล เราต้องวิเคราะห์ และทำความเข้าใจเพิ่มเติมเพื่อใช้กับธุรกิจของเราได้ดีขึ้นนะคะ

เรียบเรียงข้อมูลโดย ต้นสนคู่
ที่มา นิตยสาร Brandage/e-frastructure โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ