วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เมารถ...เรื่องเล็ก


      ก่อนอื่นเรามารู้จักกับสาเหตุของการเมากันก่อนเลย โดยปกติแล้วสมองต้องมีการรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายและตำแหน่งของศีรษะตลอดเวลา เพื่อที่จะควบคุมท่าทางต่างๆของร่างกาย รวมถึงศีรษะด้วย การรับรู้ด้านการทรงตัวของสมองนั้นจะทำงานประสานกันระหว่าง 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ อวัยวะรับรู้การเคลื่อนไหวภายในหู ตา และการรับสัมผัสบริเวณอื่นๆทั่วร่างกาย การประมวลผลจากสมองด้านสั่งการ จะเข้ามามีส่วนในการประเมินและควบคุมการทรงตัวของร่างกายและศีรษะ โดยทำงานร่วมกับอวัยวะทั้ง 3 ที่ได้กล่าวไป ซึ่งสมองจะทำการประมวลผลว่าต่อไปการเคลื่อนไหวของร่างกายและตำแหน่งศีรษะจะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการช่วยให้สมองเตรียมพร้อมแล้วส่งคำสั่งไปที่กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อแขนขา เพื่อให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง การควบคุมการเคลื่อนไหว จึงเป็นการทำงานประสานกันระหว่างสมองส่วนการสั่งการและการรับรู้ 

      ดังนั้น เมื่อเราขับรถ แล้วสมองสั่งการให้หมุนพวงมาลัยรถ สมองก็จะสั่งการให้กล้ามเนื้อคอและตาหันไปดูทางโค้งที่จะเลี้ยว และรับรู้ภาพของทางโค้ง และประมวลผลว่าตำแหน่งของร่างกาย สอดคล้องกับภาพที่รับรู้ไว้หรือไม่ ดังนั้นผู้โดยสาร จึงมักเกิดอาการเมาความเร็วหรือที่เรียกว่าเมารถได้ง่ายกว่าผู้ขับ เพราะผู้โดยสารนั้นจะประเมินการเคลื่อนไหวจากอวัยวะการรับรู้เท่านั้น ไม่มีการทำงานของสมองส่วนสั่งการมาช่วยประมวลผล จึงไม่มีการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกาย หากข้อมูลที่รับมาจากอวัยวะทั้ง 3 ชิ้นเกิดความไม่สอดคล้องกันก็จะเป็นเหตุให้เมารถได้นั่นเอง ปัจจัยที่ทำให้คนเมายากง่ายไม่เท่ากันนั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น

    - เพศ ปกติแล้วเพศหญิงจะเมาง่ายกว่าเพศชาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอายุด้วย

    - อายุ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ มักจะทนต่อการเมารถ ส่วนอายุที่พบว่าเมารถมากที่สุดคือเด็กอายุ 12 ปี และหลังจากนั้นอาการเมารถจะน้อยลงเรื่อยๆไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น

    - ฮอร์โมน ผู้หญิงท้องจะมีโอกาสเมารถได้ง่ายขึ้น รวมทั้งระยะของวงรอบประจำเดือนของผู้หญิงก็มีผล ยาคุมกำเนิดของผู้หญิงก็มีผลเช่นกัน


    - โรคที่เกี่ยวข้องกับหูชั้นใน เช่น หูชั้นในอักเสบ จะทำให้การรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะไวกว่าปกติ
    - โรคไมเกรน คนที่เป็นโรคไมเกรน หรือมีอาการปวดหัวอยู่เดิม จะทำให้สมองมีความไวในการรับรู้ความรู้สึกต่างๆมากกว่าปกติ
    - ปัจจัยทางจิตวิทยา เคยไหม บางครั้งถ้าเราไม่คิดว่ามันจะเป็นบางทีมันก็ไม่เป็น
    - รูปแบบการเคลื่อนที่ ความถี่ของการเคลื่อนที่และทิศทาง เช่น เลี้ยวซ้ายติดกัน 10 ครั้ง
    - ท่าทางของร่างกาย ผลการวิจัยบนเรือ(ไม่ใช่รถ) พบว่าท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้เมาน้อยที่สุด
    - ความเคยชิน การรับรู้ของอวัยวะในหูชั้นในนั้นตอบสนองน้อยลง เมื่อมีการตอบสนองอยู่บ่อยๆ จึงทำให้คนที่นั่งบ่อยๆไม่เป็น

เทคนิคที่ช่วยบรรเทาอาการเมารถ

1. นั่งแถวหน้าๆ หันหน้าไปทางหน้ารถ เพราะการนั่งหน้ารถและมองไปข้างหน้า จะทำให้ทั้งตาและหูของเรารับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อมๆกับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า
2. จินตนาการว่าตัวเองเป็นคนขับรถเอง เพราะคนขับมักจะไม่ค่อยเมารถ เวลารถจะเลี้ยวก็คาดการณ์ล่วงหน้า และรู้ตัวขณะที่ร่างกายต้องหมุนเลี้ยวตามรถ สมองก็จะเกาะติดสถานการณ์ได้ทัน ไม่เกิดความสับสน
3. มองไปไกลๆ จับเส้นขอบฟ้าไว้เป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่บน อยู่ล่าง อะไรอยู่ซ้าย หรืออยู่ขวา ขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหววกไปวนมา ต้องหามองอะไรที่ไกลๆและนิ่งๆ และรู้ตัวว่าตัวเรากำลังเคลื่อนไหวไป ขณะที่จุดนั้นนิ่ง เพื่อให้สมองทราบสถานะและตำแหน่งของตัวเองได้ถูกต้อง
4. อย่าอ่านหนังสือหรือตั้งใจมองอะไรที่เป็นของเล็กๆ และเขย่าๆ หรือเคลื่อนไหวบนรถ เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรากับวัสดุในรถจะไม่ไปด้วยกันทำให้สมองสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของตัวเอง
5. ตั้งศีรษะให้ตรง ให้ศีรษะได้อยู่นิ่งๆ เวลารถเลี้ยวก็ให้รู้ตัวว่ากำลังหันไปตามการเลี้ยวของรถ อย่าให้ศีรษะไปพิงกับส่วนของรถที่เขย่าๆไปตามแรงกระแทกและการเคลื่อนไหว ถ้าจะพิงพนักก็ให้ใช้หลังพิงโดยให้ศีรษะตั้งตรงขึ้น อย่าฟุบหน้าลง หรือเอนศีรษะไปพิงอะไรข้างๆ จะทำให้ตัวเองอยู่ในสภาพถูกจับแกว่งไกวขณะที่รถเลี้ยวไปมา
6. เมื่อเริ่มวิงเวียน การสูดหายใจลึกๆ รับลมเย็นๆจากหน้าต่างรถ หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้าผากและหน้า จะช่วยลดอาการได้
7. การดมกลิ่นเปลือกส้มเขียวหวาน (บีบให้มันพ่นกลิ่นออกมา) และกลิ่นเปลือกพริกขี้หนู (เอาพริกขี้หนูหลายๆเม็ดใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ) ก็ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้เช่นกัน
8. ใช้จิตวิทยากันตนเอง วางฟอร์ม ตั้งสติ ไม่ยอมแพ้แก่การเมา จะช่วยได้มาก เพราะสมองรับอิทธิพลจากสัญญาณทั้งที่มาจากจิตสำนึกและจากประสาทอัตโนมัติ ควรคอยบอกตัวเองว่าอย่าเสียฟอร์มต่อหน้าคนอื่นนะ คู่สนทนาขณะเมารถต้องเป็นคนที่ดึงจิตเราให้สูงขึ้น เช่น เป็นคนให้กำลังใจ อย่าสนทนากับคนที่กำลังพ่ายแพ้แก่อาการเมาเหมือนกัน เพราะจะพากันอ๊วก
9. หากทำท่าจะแพ้ หมดแรงสู้ ให้นอนลงแล้วหลับตาเพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมองเป็นการลดความสับสน ให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัวที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าม่อยหลับไปจริงๆเลยได้ยิ่งดี เพราะขณะนอนหลับ สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะปิดรับสัญญาณเข้าใดๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันก็จะไม่มี อาการเมารถก็จะหายไปเอง

แหล่งข้อมูล
http://www.headlightmag.com

http://visitdrsant.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น